วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2557

คณะผู้จัดทำ

จัดทำโดย
1.นาย กิตติพศ  เจริญทรัพย์
2.นาย ปฏิพล วิไลประเสริฐ
3.นางสาว ณัฐนันท์ สังคพันเลิศ
4.นางสาว เบญจมาศ ศรีวิราช
5.นางสาว ศิรดา เล็กโล่ง
6.นางสาว กิตติยา เหมือดขุนทด
7.นางสาว นัทธมน บุญรัตน์
8.นางสาว ชนากานต์ แก้วยศ
9.นางสาว วิภาพร ชอบช้ำ
เสนอ
อาจารย์ ชญาภา  บุญเลิศปฐวี
โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร

การแสดงภาคอีสาน

ฟ้อนภูไท
                 ภูไท หรือผู้ไท  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่รองลงมาจากไทยและลาว  ตามตัวเลขที่มีปรากฏรำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพวกผู้ไทอยู่ประมาณสองแสนคน  กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงและเทือกเขาภูพาน  ได้แก่ จังหวัดนครพนม  สกลนคร  เลย  และกาฬสินธุ์
                 ผู้ไทเป็นคนที่ทำงานขยันขันแข็ง  มัธยัสถ์ และโดยทั่วไปแล้วเจริญก้าวหน้ามากกว่าพวกไทย-ลาวที่อยู่ใกล้เคียง  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พัฒนาได้เร็ว  นอกจากนี้ยังปรากฏว่าชาวผู้ไทยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมของตนไว้ได้มากกว่าชนกลุ่มอื่นๆ  คนผู้ไทนั้นเป็นชาติพันธุ์ที่มีหน้าตาสวยงาม  ผิวพรรณดี  กิริยามารยาทแช่มช้อย  มีอัธยาศัยไมตรีดีด้วย
                 การฟ้อนภูไทนี้ เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของชาวผู้ไท  เดิมที่นั้นการร่ายรำแบบนี้เป็นการร่ายรำเพื่อถวายพระธาตุเชิงชุมแต่อย่างเดียว  ต่อมาได้ใช้ในงานแสดงในงานสนุกสนาน รื่นเริงต่างๆด้วย
การแต่งกาย
          ชายนุ่งกางเกง  ใส่เสื้อคอกลม  มีผ้าขาวม้าคาดพุง  และมีผ้าพันศีรษะ  เป็นผู้เล่นดนตรีประกอบการฟ้อน  หญิงแต่งตัวแบบพื้นเมืองเดิม  เกล้ามวยผม  ใส่เล็บยาว  ผูกแถบผ้าสีแดงบนมวยที่เกล้าไว้
ดนตรี                                                           
          เครื่องดนตรีประกอบที่ใช้ในการเล่น  ประกอบด้วย กลองสั้น  กลองยาว  ตะโพน  ม้าล่อรำมะนา  แคน  ฉิ่ง  ฉาบ
โอกาสที่แสดง
          จัดขึ้นในงานพิธีมงคลต่างๆ  หรือในงานบุญต่างๆ 
เพลงภูไท
ทำนอง คำร้อง  บุญปัน  วงศ์เทพ
                                                 ไปเย้อเฮาไป                     ไปโห่เอาชัยเอาส่อง               (ซ้ำ)
                            ไปโฮมพี่โฮมน้อง                                   เฮาเป็นพวกพ้องของไทย (ไปช่วยแซ่ซ้องอวยชัย)
                                                  เทิงเขาแสนจน                   หาทางก็ลำบาก                    (ซ้ำ)   
                             ข้อยสู้ทนยาก                                       มาฟ้อนรำให้เพิ่นซม
                                                  ข้อยอยู่เทิงเขา                   ข้อยยังเอาใจมาช่วย              (ซ้ำ)
                             พวกข้อยขออำนวย                                 อวยชัยให้ละเน้อ
                                                  ขออำนาจไตรรัตน์               จงปกปักฮักษา                    (ซ้ำ)
                             ชาวไทยทั่วหน้า                                     ให้วัฒนาสืบไป
                                                  เวลาก็จวน                        ข้อยสิด่วนไป  (จะ)               (ซ้ำ)
                             ขอความมีชัยทุก  ท่านเทอญ                      ข้อยสิลาละเน้อ  ข้อยลานะเนอ



ภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคอีสาน

                       ภูมิปัญญาด้านการตั้งชุมชนและสร้างที่อยู่อาศัย ลักษณะหมู่บ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานนั้นมักจะอยู่รวมกันเป็นกระจุก ส่วนที่ตั้งบ้านเรือนตามทางยาวของลำน้ำนั้นมีน้อย ผิดกับทางภาคกลางที่มักตั้งบ้านเรือนตามทางยาว ทั้งนี้เพราะมีแม่น้ำลำคลองมากกว่า
หนุ่มสาวชาวอีสานเมื่อแต่งงานกันแล้ว ตามปกติฝ่ายชายจะต้องไปอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย ต่อเมื่อมีลูกจึงขยับขยายไปอยู่ที่ใหม่เรียกว่า "ออกเฮือน" แล้วหักล้างถางพงหาที่ทำนา ดังนั้น ที่นาของคนชั้นลูกชั้นหลานจึงมักไกลออกจากหมู่บ้านไปทุกที และเมื่อบริเวณเหมาะสมจะทำนาหมดไป เพราะพื้นที่ราบที่มีแหล่งน้ำจำกัด คนอีสานชั้นลูกหลานก็มักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่อีก หรือถ้าที่ราบในการทำนาบริเวณใดกว้างไกลไปมาลำบาก ก็จะชักชวนกันไปตั้งบ้านใหม่ใกล้เคียงกับนาของตน ทำให้เกิดการขยายตัวกลายเป็นหมู่บ้านขึ้น
 ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน
     ในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนอีสานมักเลือกทำเลที่เอื้อต่อการยังชีพ ซึ่งมีองค์ประ กอบทั่วไปดังนี้
        1. แหล่งน้ำ นับเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก อาจเป็นหนองน้ำใหญ่หรือห้วย หรือ ลำน้ำที่แยกสาขามาจากแม่น้ำใหญ่ ที่มีน้ำเฉพาะฤดูฝนส่วนมากเป็นที่ราบลุ่มสามารถทำนาเลี้ยงสัตว์ ได้ในบางฤดูเท่านั้น  ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วยคำว่า "เลิง วัง ห้วย กุด หนอง และท่า" เช่น เลิงนกทา วังสามหม้อ ห้วยยาง กุดนาคำ หนองบัวแดง ฯลฯ
        2. บริเวณที่ดอนเป็นโคกหรือที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง สามารถทำไร่และมีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ มีทั้งที่ดอนริมแม่น้ำและที่ดอนตามป่าริมเขา แต่มีน้ำซับไหลมาบรรจบเป็นหนองน้ำ ชื่อหมู่บ้านมักขึ้นต้นด้วนคำว่า "โคก ดอน โพน และโนน" เช่น โคกสมบูรณ์ ดอนสวรรค์ โพนยางคำ ฯลฯ
        3. บริเวณป่าดง เป็นทำเลที่ใช้ปลูกพืชไร่และสามารถหาของป่าได้สะดวก มีลำธารไหลผ่าน เมื่ออพยพมาอยู่กันมากเข้าก็กลายเป็นหมู่บ้านและมักเรียกชื่อหมู่บ้านขึ้นต้นด้วยคำว่า "ดง ป่า และเหล่า" เช่น โคกศาลา ป่าต้นเปือย เหล่าอุดม ฯลฯ
        4. บริเวณที่ราบลุ่ม เป็นพื้นที่เหมาะในการทำนาข้าว และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ในหน้าแล้ง ตัวหมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณขอบหรือแนวของที่ราบติดกับชายป่า แต่น้ำท่วมไม่ถึงในหน้าฝน บางพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำขังตลอดปี เรียกว่า "ป่าบุ่งป่าทาม" เป็นต้น
        5. บริเวณป่าละเมาะ มักเป็นที่สาธารณะสามารถใช้เลี้ยงสัตว์และหาของป่าเป็นอาหารได้ ตลอดจนมีสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่นำมาเป็นอาหารยังชีพ รวมทั้งสมุนไพรใช้รักษาโรค และเป็นสถานที่ยกเว้นไว้เป็นดอนปู่ตาตามคติความเชื่อของวัฒนธรรมกลุ่มไต-ล
ความเชื่อในการเลือกภูมิประเทศเพื่อตั้งหมู่บ้านในภาคอีสานจะเห็นได้ว่ามีหลักสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ ต้องเลือกทำเลที่ประกอบด้วย
        1. น้ำ เพื่อการยังชีพและประกอบการเกษตรกรรม
        2. นา เพื่อการปลูกข้าว (ข้าวเหนียว) เป็นอาหารหลัก
        3. โนน เพื่อการสร้างบ้านแปงเมือง ที่น้ำท่วมไม่ถึง
        ส่วนคติความเชื่อของชาวอีสานในการดำเนินชีวิต ชาวอีสานมี ความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษกล่าวคือ ความเชื่อในอำนาจลี้ลับที่เหนือธรรมชาติ และเชื่อในการครองเรือน การทำมาหาเลี้ยงชีพ  สำหรับความเชื่อในการตั้งหมู่บ้านก็ไม่ต่างกันนัก ชาวอีสานมีการนับถือ"ผีบ้าน" และแถนหรือ "ผีฟ้า"มีการเซ่นสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อให้ช่วยปกป้องรักษาลูกหลาน มีการตั้ง "ศาลเจ้าปู่" ไว้ที่ดอนปู่ตา ซึ่งมีชัยภูมิเป็นโคก น้ำท่วมไม่ถึง มีต้นไม้ใหญ่หนาทึบ มีการก่อสร้าง "ตูบ" เป็นที่สถิตของเจ้าปู่ทั้งหลาย ตลอดจนการตั้ง "บือบ้าน"(หลักบ้าน)เพื่อเป็นสิริมงคลของหมู่บ้าน และมีการเซ่น "ผีอาฮัก" คือเทพารักษ์ให้ดูแลคุ้มครองผู้คนในหมู่บ้านให้อยู่ดีมีสุขตลอดไป
       "ผีปู่ตา" จะกระทำในเดือน 7 คำว่า "ปู่ตา" หมายถึงญาติฝ่ายพ่อ(ปู่-ย่า)และญาติฝ่ายแม่(ตา-ยาย)ซึ่งทั้งสี่คนนี้ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็เป็นที่เคารพของลูกหลาน ครั้นเมื่อตายไปจึงปลูกหอหรือที่ชาวอีสานเรียก"ตูบ" มักใช้เสา 4 ต้น หลังคาจั่วพื้นสูง โดยเลือกเอาสถานที่เป็นดงใกล้บ้านมีต้นไม้ใหญ่และสัตว์ป่านานาชนิดเรียกว่า"ดงปู่ตา" ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธ์ ใครไปรุกล้ำตัดต้นไม้หรือล่าสัตว์ไม่ได้ หรือแม้แต่แสดงวาจาหยาบคายก็ไม่ได้ ปู่ตาจะลงโทษกระทำให้เจ็บหัวปวดท้อง
        และเมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย มีคนล้มตายผิดปกติเกิดขึ้นในหมู่บ้านชาวอีสานถือกันว่า"หลักเหงี่ยงหงวย" ต้องทำพิธีตอกหลักบ้านใหม่ให้เที่ยงตรง มีการสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ เซ่นสรวงเทพยาดาอารักษ์ แล้วหาหลักไม้แก่นมาปักใหม่ ซึ่งต้องมีคาถาหรือยันต์ใส่พร้อมกับสวดญัตติเสาก่อนเอาลงดินในบริเวณกลางบ้าน ทั้งนี้เพราะชาวอีสานมีความเชื่อในการตั้ง "หลักบ้าน" เพราะหลักบ้านเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผังชุมชนระดับหมู่บ้าน และเปรียบเสมือนหัวใจของบ้าน เมื่อชุมชนเติบโตขึ้น "หลักบ้าน" ก็พัฒนาไปสู่"หลักเมือง" ดังที่ปรากฎอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
    หลักบ้านมักสร้างด้วยไม้มงคล เช่น ไม้คูน ไม้ยอ มีทั้งหลักประธานหลักเดี่ยวและมีพร้อมหลักบริวารรายล้อม ส่วนรูปแบบของหลักบ้านนั้น มักควั่นหัวไม้เป็นเสาทรงบัวตูมหยาบ ๆ บางแห่งก็ถากให้เป็นปลายแหลมแล้วทำหยัก"เอวขัน"ไว้ส่วนล่าง
ความเชื่อในการสร้างเรือนอีสาน
    อันดับแรกต้องพิจารณาสถานที่ ๆ จะสร้างเรือนก่อน โดยต้องเลือกเอาสถานที่ปลอดโปร่ง ไม่มีหลุมบ่อ ไม่มีจอมปลวก ไม่มีหลุมผี ไม่มีตอไม้ใหญ่ และต้องดูความสูงต่ำ ลาดเอียงของพื้นดินว่าลาดเอียงไปทางทิศใดและจะเป็นมงคลหรือไม่ ดังนี้
       1. พื้นดินใด สูงหนใต้ ต่ำทางเหนือ เรียกว่า "ไชยะเต ดีหลี"
       2. พื้นดินใด สูงหนตะวันตก ต่ำทางตะวันออก เรียกว่า "ยสะศรี-ดีหลี"
       3. พื้นดินใด สูงทางอีสาน ต่ำทางหรดี เรียกว่า "ไม่ดี"
       4. พื้นดินใด สูงทางอาคเนย์ ต่ำทางพายัพ เรียกว่า "เตโซ" เฮือนนั้นมิดี เป็น ไข้ พยาธิฮ้อนใจ
    เมื่อเลือกได้พื้นที่ปลูกเรือนแล้ว จะมีการเสี่ยงทายพื้นที่นั้นอีกครั้งหนึ่ง โดยจัดข้าว 3 กระทง คือ ข้าวเหนียว 1 กระทง,ข้าวเหนียวดำ 1 กระทงและข้าวเหนียวแดง 1 กระทง นำไป วางไว้ตรงหลักกลางที่ดินเพื่อให้กากิน
        ถ้ากากินข้าวดำ ท่านว่าอย่าอยู่เพราะที่นั้นไม่ดี
        ถ้ากากินข้าวแดง ท่านว่าไม่ดียิ่งเป็นอัปมงคลมาก
        ถ้ากากินข้าวขาว ท่านว่าดีหลี จะอยู่เย็นเป็นสุข ให้รีบเฮ็ดเรือนสมสร้างให้ เสร็จเร็วไว
        การเลือกพื้นที่ที่จะปลูกเรือนอีกวิธีหนึ่งคือ การชิมรสของดินโดยขุดหลุมลึกราวศอกเศษ ๆ เอาใบตองปูไว้ก้นหลุม แล้วหาหญ้าคาสดมาวางไว้บนใบตอง ทิ้งไว้ค้างคืนจะได้ไอดินเป็นเหงื่อจับอยู่หน้าใบตอง จากนั้นให้ชิมเหงื่อที่จับบนใบตอง
        หากมีรสหวาน เป็นดินที่พออยู่ได้
        มีรสจืด เป็นดินที่เป็นมงคล จะอยู่เย็นเป็นสุข
        มีรสเค็ม เป็นอัปมงคล ใครอยู่มักไม่ยั่งยืน
        มีรสเปรี้ยว พออยู่ได้แต่ไม่ใคร่ดีนัก จะมีทุกข์เพราะเจ็บไข้อยู่เสมอ
    นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องกลิ่นของดินอีกด้วย โดยการขุดดินลึกราว 1 ศอก เอาดินขึ้นมาดมกลิ่นว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าดินมีกลิ่นหอม ถือว่าดินนั้นอุดมดี เป็นมงคลอยู่เย็นเป็นสุข แต่ถ้าดินมีกลิ่นเย็น กลิ่นเหม็น กลิ่นคาว ถือว่าดินนั้นไม่ดี ใครปลูกสร้างบ้านอยู่เป็นอัปมงคล
    การดูพื้นที่ก่อนการสร้างเรือน ชาวอีสานแต่โบราณถือกันมากแต่ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต โดยยังใช้คติเดิมแต่มีการเลี่ยงหรือแก้เคล็ด เช่น การชิมดิน หากเป็นรสเค็มหรือเปรี้ยวก็แก้เคล็ดโดยการบอกว่าจืด ส่วนการดมกลิ่นดิน หากมีกลิ่นเหม็นคาวก็จะบอกเอาเคล็ดว่าหอม เป็นต้น
        นอกจากนี้ชาวอีสานมีความเชื่อในการสร้างเรือนให้ด้านกว้างหันไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก ให้ด้านยาวหันไปทางทิศเหนือและใต้ ซึ่งเป็นลักษณะที่เรียกว่า วางเรือนแบบ ล่องตาเว็น” (ตามตะวัน) เพราะถือกันว่า หากสร้างเรือนให้ ขวางตาเว็นแล้วจะ ขะลำคือเป็นอัปมงคลทำให้ผู้อยู่ไม่มีความสุข
    บริเวณรอบ ๆ เรือนอีสานไม่นิยมทำรั้ว เพราะเป็นสังคมเครือญาติมักทำยุ้งข้าวไว้ใกล้เรือน บางแห่งทำเพิงต่อจากยุ้งข้าว มีเสารับมุงด้วยหญ้าหรือแป้นไม้ เพื่อเป็นที่ติดตั้งครกกระเดื่องไว้ตำข้าว ส่วนใต้ถุนบ้านซึ่งเป็นบริเวณที่มีการใช้สอยมากที่สุด จะมีการตั้งหูกไว้ทอผ้า กี่ทอเสื่อ แคร่ไว้ปั่นด้วย และเลี้ยงลูกหลาน
    นอกจากนั้นแล้ว ใต้ถุนยังใช้เก็บไหหมักปลาร้า และสามารถกั้นเป็นคอกสัตว์เลี้ยง ใช้เก็บเครื่องมือเกษตรกรรม ตลอดจนใช้จอดเกวียน
        การถือฤกษ์ยามในการปลูกเรือน   ในเดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนเก้า เดือนสิบสอง   ถือเป็นฤกษ์ที่ดีในการปลูกเรือน โดยเฉพาะในเดือนหกและเดือนเก้า   
        ทำเลการปลูกเรือน   ทำเลที่เหมาะในการปลูกเรือน   เช่น  รูปดวงจันทร์รูปมะนาวตัดรูปเรือสำเภาและรูปสี่เหลี่ยมคางหมู เป็นความเชื่อสำหรับผู้ครองเรือนในทุกภูมิภาคเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลต่อผู้อยู่อาศัย ในภาคอีสานก็เช่นเดียวกันหากจะมีคติความเชื่อในเรื่องทิศและชัยภูมิที่ดินเพิ่มเติมคือหากเป็นแผ่นดินที่สูงทางใต้ ต่ำทางเหนือ เป็นที่ ไชยะ แผ่นดินที่สูงทางตะวันตก ต่ำทางตะวันออกเป็นที่ยะสะศรี แผ่นดินที่สูงทางพายัพ ต่ำทางทักษิณ เป็นที่ สะศรี ถือว่าเป็นทำเลที่ดี

อาหารภาคอีสาน

            คนภาคอีสานเป็นผู้ที่กินอาหารได้ง่าย มักรับประทานได้ทุกอย่าง เนื่องจากภาคอีสาน มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง เป็นที่ราบสูง มีแม่น้ำสายใหญ่ และมีเทือกเขาสูงในบางแห่ง ขาดความอุดมสมบูรณ์กว่าภาคอื่นๆ เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตในการปรับตัวให้สอดคล้องกับ ธรรมชาติ คนภาคอีสานจึงรู้จักแสวงหาสิ่งต่างๆ ที่รับประทานได้ในท้องถิ่น นำมาดัดแปลงรับประทาน หรือประกอบเป็นอาหารทั้งพืชผักจากป่าธรรมชาติ ปลาจากลำน้ำ และแมลงต่างๆ หลายชนิด
อาหารพื้นบ้านอีสานส่วนมากจะมีรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยว คนอีสานจะรับประทานข้าวเหนียว กับอาหารพื้นบ้านที่มีรสจัดและน้ำน้อย วิธีปรุงอาหารพื้นบ้านอีสานมีหลายวิธี คือ ลาบ ก้อย จํ้า จุ๊ หมก อู่ เอ๊าะ อ่อม แกง ต้ม ซุป เผา กี่ ปิง ย่าง รม ดอง คั่ว ลวก นึ่ง ตำ แจ่ว ป่น เมี่ยง ดังนั้นตำรับ อาหารพื้นบ้านของภาคอีสาน จึงมีความหลากหลายและมีรูปแบบที่น่ารับประทานมาก ในบรรดาตำรับอาหารภาคอีสานนั้น สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ น้ำปลาร้า จัดว่าเป็นเครื่องปรุงที่ช่วยเพิ่มรสชาติ ให้อาหารน่ารับประทานยิ่งขึ้น น้ำปลาร้าจึงมีบทบาทต่อการประกอบอาหาร เกือบทุกตำรับของอาหารอีสานก็ว่าได้ ซึ่งทำให้กลายเป็นสัญลักษณ์และเป็นอาหารเด่นที่ทุกคนต้องรู้จัก ซึ่งมีตำนาน ผักพื้นบ้านและตำรับอาหารบางชนิดดังนี้
แจ่วบอง
แจ่วบอง เป็นเครื่องจิ้ม ที่มีรสชาติเข้มข้น และแห้งกว่าแจ่วธรรมดา เพื่อให้เก็บไว้กินได้นาน โดยการเผาเครื่องปรุงให้สุก รับประทานกับผักตามหนองน้ำ เถียงไร่ เถียงนา เช่น ผักบุ้ง ผักแว่น ผักตับเต่า เป็นต้น
ส้มตำไทย
เป็นอาหารว่างของชาวภาคกลาง ที่มีพื้นเพมาจากภาคอีสาน รสชาติของส้มตำไทย จะไม่ออกรสเค็มเหมือนส้มตำปูปลาร้า แต่จะออกรสหวาน เปรี้ยว เค็ม 3 รส
ลาบหมู
วิธีทำเหมือนลาบวัว เพียงแต่เปลี่ยนเนื้อวัวเป็นเนื้อหมูแทน
ไก่ย่าง
นำไก่สับเป็นชิ้นหนาขนาดฝ่ามือ แล้วนำไปคลุกกับเครื่องที่โขลกคือ กระเทียม ตะไคร้ เกลือป่น ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ้วขาว พริกไทย หมักทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที นำไปย่างบนเตาถ่านให้สุก ควรใช้ไฟอ่อน ๆ ในการย่าง เพราะจะทำให้เนื้อไก่ไม่ไหม้ก่อนสุก และเนื้อไก่นุ่มด้วย รับประทานกับน้ำจิ้ม ที่ทำจากพริกป่น กระเทียม น้ำปลา น้ำตาลปี๊บ และน้ำมะนาว

เทศกาลงานประเพณีอีสาน

ผีตาโขน
เป็นขบวนแห่ใส่หน้ากากผีหรือปีศาจ ซึ่งพิธีฉลองจัดขึ้นในวันแรกของพิธีทำบุญ 3 วัน เรียกว่า บุญพระเวส” เทศกาลประจำปีนี้จะมีขึ้นในเดือน พฤษภาคม มิถุนายน หรือ กรกฎาคม ที่เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ชื่อด่านซ้าย ในจังหวัดเลยของภาคอีสาน ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากต้นมะพร้าวแกะสลักและสวมศีรษะด้วยกระติ๊บข้าวเหนียว ในขบวนแห่จะประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน
ต้นกำเนิดของพิธีผีตาโขนไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด แต่ก็พอที่จะท้าวความไปยังตำนานทางพุทธศาสนาได้ว่า ในชาติก่อนหน้าที่จะถือกำเนิดมาเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงถือกำเนิดเป็นเจ้าชาย ผู้เป็นที่รักยิ่งของทวยราษฎร์ ทรงพระนามว่า พระเวสสันดร กล่าวกันว่าพระองค์ทรงเสด็จออกนอกพระนครไปเป็นเวลานานเสียจนเหล่าพสกนิกรของพระองค์ลืมพระองค์ไปแล้ว และยังคิดว่าพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ไปเสียแล้วด้วยซ้ำไป แต่จู่ ๆ พระองค์ก็เสด็จกลับมา พสกนิกรของพระองค์ต่างปลื้ม ปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันเฉลิมฉลองการเสด็จกลับมาอย่างเอิกเกริกส่งเสียงดังกึกก้อง จนกระทั่งปลุกผู้ที่ตายไปแล้วให้มาเข้าร่วมสนุกสนานรื่นเริงไปด้วย
การละเล่นผีตาโขน
เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีการละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติ มีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวมๆกัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน 
วันแรก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด (พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมา ถามว่า "ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่" ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า "ไม่ใช่" พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า "ใช่ นั่นแหละพระอุปคุตต์ที่แท้จริง" เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้ว ก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับที่หอพระอุปคุตต์ ทำการทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการยิงปืนและจุดประทัด ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรืออยู่ตามที่ต่างๆก็จะมาร่วมขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดังเสียงดัง 
วันที่สอง เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หามตามด้วย เจ้าพ่อกวน นั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียม กับบริวาร ชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดินตามเสด็จไปรอบเมือง ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่ วันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆของปีมารวมกันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิต

การแต่งกายประจำภาคอีสาน

ลักษณะการแต่งกาย
ผู้ชาย ส่วนใหญ่นิยมสวมเสื้อแขนสั้นสีเข้มๆ ที่เราเรียกว่า ม่อห่อมสวมกางเกงสีเดียวกับเสื้อจรดเข่า นิยมใช้ผ้าคาดเอวด้วยผ้าขาวม้า
ผู้หญิง การแต่งกายส่วนใหญ่นิยมสวมใส่ผ้าซิ่นแบบทอทั้งตัว สวมเสื้อคอเปิดเล่นสีสัน ห่มผ้าสไบเฉียง สวมเครื่องประดับตามข้อมือ ข้อเท้าและคอ
ผ้าพื้นเมืองอีสาน
ชาวอีสานถือว่าการทอผ้าเป็นกิจกรรมยามว่างหลังจากฤดูการทำนาหรือว่างจากงานประจำอื่นๆ ใต้ถุนบ้านแต่ละบ้านจะกางหูกทอผ้ากันแทบทุกครัวเรือน โดยผู้หญิงในวัยต่างๆ จะสืบทอดกันมาผ่านการจดจำและปฏิบัติจากวัยเด็ก ทั้งลวดลายสีสัน การย้อมและการทอ ผ้าที่ทอด้วยมือจะนำไปใช้ตัดเย็บทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม หมอน ที่นอน ผ้าห่ม และการทอผ้ายังเป็นการเตรียมผ้าสำหรับการออกเรือนสำหรับหญิงวัยสาว ทั้งการเตรียมสำหรับตนเองและเจ้าบ่าว ทั้งยังเป็นการวัดถึงความเป็นกุลสตรี เป็นแม่เหย้าแม่เรือนของหญิงชาวอีสานอีกด้วย ผ้าที่ทอขึ้นจำแนกออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ผ้าทอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน จะเป็นผ้าพื้นไม่มีลวดลาย เพราะต้องการความทนทานจึงทอด้วยฝ้ายย้อมสีตามต้องการ
2. ผ้าทอสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น ใช้ในงานบุญประเพณีต่างๆ งานแต่งงาน งานฟ้อนรำ ผ้าที่ทอจึงมักมีลวดลายที่สวยงามวิจิตรพิสดาร มีหลากหลายสีสัน
ประเพณีที่คู่กันมากับการทอผ้าคือการลงข่วง โดยบรรดาสาวๆ ในหมู่บ้านจะพากันมารวมกลุ่มก่อกองไฟ บ้างก็สาวไหม บ้างก็ปั่นฝ้าย กรอฝ้าย ฝ่ายชายก็ถือโอกาสมาเกี้ยวพาราสีและนั่งคุยเป็นเพื่อน บางครั้งก็มีการนำดนตรีพื้นบ้านอย่างพิณ แคน โหวต มาบรรเลงจ่ายผญาโต้ตอบกัน
เนื่องจากอีสานมีชนอยู่หลายกลุ่มวัฒนธรรม การผลิตผ้าพื้นเมืองจึงแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรม

ภาษาอีสาน

ภาษาไทยถิ่นอีสาน หรือ ภาษาลาวอีสาน เป็นภาษาท้องถิ่นที่ใช้พูดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เป็นภาษาลาวสำเนียงหนึ่งในสำเนียงภาษาถิ่นของภาษาลาวซึ่งแบ่งเป็น 6 สำเนียงใหญ่ คือ 1. ภาษาลาวเวียงจันทน์ ใช้ในประเทศลาว ท้องที่นครหลวงเวียงจันทน์ แขวงบริคำไชย และในประเทศไทยท้องที่จังหวัดชัยภูมิ หนองบัวลำภู หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย) ขอนแก่น (อำเภอภูเวียง ชุมแพ สีชมพู ภูผาม่าน หนองนาคำ เวียงเก่า หนองเรือบางหมู่บ้าน) ยโสธร (อำเภอเมืองยโสธร ทรายมูล กุดชุม บางหมู่บ้าน) อุดรธานี (อำเภอบ้านผือ เพ็ญ บางหมู่บ้าน) ศรีสะเกษ (ในบางหมู่บ้านของอำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอขุขันธ์ และอำเภอขุนหาญ) 2. ภาษาลาวเหนือ ใช้ในประเทศลาวท้องที่แขวงหลวงพระบาง ไชยบุรี อุดมไชย ในประเทศไทยท้องที่จังหวัดเลย อุตรดิตถ์ (อำเภอบ้านโคก น้ำปาด ฟากท่า) เพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า น้ำหนาว) ขอนแก่น (อำเภอภูผาม่าน และบางหมู่บ้านของอำเภอสีชมพู ชุมแพ) ชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร) พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการและนครไทยบางหมู่บ้าน) หนองคาย (อำเภอสังคม) อุดรธานี (อำเภอน้ำโสม นายูง บางหมู่บ้าน) 3. ภาษาลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้ในประเทศลาวท้องที่แขวงเชียงขวาง หัวพัน ในประเทศไทยท้องที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และบางหมู่บ้านในจังหวัดสกลนคร หนองคาย และยังมีชุมชนลาวพวนในภาคเหนือบางแห่งในจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ ไม่กี่หมู่บ้านเท่านั้น 4. ภาษาลาวกลาง แยกออกเป็นสำเนียงถิ่น 2 สำเนียงใหญ่ คือ ภาษาลาวกลางถิ่นคำม่วน และถิ่นสุวรรณเขต ถิ่นคำม่วน จังหวัดที่พูดในประเทศไทย เช่น จังหวัดนครพนม สกลนคร บึงกาฬ (อำเภอเซกา บึงโขงหลง บางหมู่บ้าน) ถิ่นสุวรรณเขต จังหวัดที่พูดมีจังหวัดเดียว คือ จังหวัดมุกดาหาร 5. ภาษาลาวใต้ ใช้ในประเทศลาวท้องที่แขวงจำปาศักดิ์ สาละวัน เซกอง อัตตะปือ จังหวัดที่พูดในประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร 6. ภาษาลาวตะวันตก (ภาษาลาวร้อยเอ็ด) ไม่มีใช้ในประเทศลาว เป็นภาษาที่ใช้ในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ท้องที่ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และบริเวณใกล้เคียงมณฑลร้อยเอ็ดของสยาม ส่วนภาษาเขียนในอดีตใช้อักษรธรรมล้านช้างหรือตัวธรรม สำหรับบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะหรือพระพุทธศาสนา และเขียนด้วยอักษรไทน้อยหรือตัวลาวเดิม (เป็นอักษรลาวล้านช้างโบราณ มีความแตกต่างกับอักษรลาวในประเทศลาวในปัจจุบันเล็กน้อย) สำหรับเรื่องราวทางโลก อักษรลาวล้านช้าง (ตัวลาวหรืออักษรไทน้อย) มีพยัญชนะ 20 เสียง สระเดี่ยว 18 เสียง สระประสม 2-3 เสียง บางท้องถิ่นไม่มีเสียงสระเอือ ในปัจจุบันนิยมใช้อักษรไทยสำหรับเขียนบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในทางโลกและทางธรรม เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านตัวอักษรธรรมและอักษรลาวออก แต่ความนิยมในการเขียนบันทึกเป็นภาษาถิ่นไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก โดยส่วนใหญ่ภาษาเขียนในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยจะใช้อักษรไทยและบันทึกเป็นภาษาไทยกลางเป็นหลักแทน ตัวอย่างประโยคภาษาไทยถิ่นอีสาน มาแต่ใส - ไปไหนมา กินเข้าแล้วบ่ - กินข้าวหรือยัง บ่พ้อกันดนและเนาะ - ไม่ได้เจอกันนานแล้วนะ งึดแฮง งึดหลาย - ประหลาดใจเหลือเกิน ประหลาดใจมาก งามเติบ - สายมาก ผู้ฮ้ายหลาย - ขี้เหร่มาก จบหลาย งามหลาย - สวยมาก เซาเว้า เซาปาก - หยุดพูด พออยู่พอเซา - พอกินพออยู่ สูนแฮง - โมโหมาก กี่ซี้นงัว - เนื้อวัวย่าง